NANA HUNTER COFFEE ROASTERS
Rachapreuk [ Pharn-Nok]
Type
Architecture & Interior Design
Date of Completion
2020-07-31
Area
450 Sq.M.
Address
Pharn-Nok, Bangkok, Thailand
Contractor
คุณบอส
Photographer
คุณจิน คุณหมิว
ทำอย่างไรให้ผู้ที่เข้ามาในโกดังเก่านี้ ได้อะไรกลับไปมากกว่ากาแฟและอาหารอร่อยจาก NANA Hunter จึงโฟกัสไปที่การออกแบบประสบการณ์ก่อนที่จะออกแบบหน้าตา หรือความสวยงามของการตกแต่ง บริเวณกลางร้านถูกวางให้เป็นบาร์ขนาดใหญ่ที่ดึงความสนใจจากผู้คนด้วยแสงธรรมชาติที่ส่องลงตรงกลางพื้นที่ ด้านหลังเป็นโซนคั่วกาแฟล้อมด้วยที่นั่งโดยรอบ รวมถึงมีโซนเก็บเมล็ดกาแฟพร้อมด้วยบันไดเวียนขึ้นสู่ชั้นสองที่เปิดให้ลูกค้าสามารถเดินถ่ายรูป มองลงมาจากด้านบน และสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับร้านนี้ คือโซนคั่วกาแฟ ซึ่งค่อนข้างแปลกใหม่สำหรับร้านกาแฟในยุคปัจจุบัน NANA สาขานี้จึงเปรียบเสมือนโรงคั่วกาแฟขนานแท้ ที่เปิดให้เหล่าคอกาแฟเข้าไปชิมและลิ้มรสแบบใกล้ชิด—————-หลังจากออกแบบพื้นที่ภาพรวมของ NANA Hunter เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาของการออกแบบดีเทลดีไซน์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ละเอียดและพิถีพิถันมากเป็นพิเศษ โดยบาร์บริเวณตรงกลางพื้นที่ถูกออกแบบสะท้อนเมนูกาแฟหนึ่งของร้านที่มีชื่อว่า Dirty ซึ่งเป็นกาแฟเข้มข้นที่หยดลงบนนม สีของบาร์จึงถูกออกแบบให้คล้ายกับสีของเมนูกาแฟดังกล่าวด้วยการใช้วัสดุ “หินเอ็มพาราโด” การเลือกใช้วัสดุชนิดนี้จึงเป็นเหมือนการทดลองสิ่งใหม่ เนื่องจากปกติหินเอ็มพาราโดจะใช้กับงานที่ค่อนข้างหรูหราและไม่เคยนำมาใช้กับงานร้านกาแฟมาก่อน ดีเทลน่าทึ่งยังมีอีก ไม่ว่าจะเป็นแผ่นหินที่ถูกนำมาขัดให้เก่าด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Aging เพื่อทำให้บาร์ดูเก่าแบบมีสไตล์ และไม่เพียงแต่บาร์เท่านั้น แต่ภาพรวมของตึกทั้งหมดยังถูกทำให้เก่าด้วยการใช้น้ำกรดและน้ำเกลือเพื่อทำให้เกิดสนิม นอกจากนั้นผนังทั้งหมดยังใช้เป็นไม้เผาไฟ ที่นอกจากดูดิบเท่แล้ว ยังช่วยทำให้ไม้ไม่ลามไฟและป้องกันไฟไหม้ได้ รายละเอียดยิบย่อยทั้งหมดที่ถูกคิดมาเป็นอย่างดีและแฝงอยู่ตามจุดต่างๆ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ลูกค้าเกิดปฏิสัมพันธ์กับอาคาร เพลิดเพลินไปกับสเปซและการมองเห็นที่ไม่ใช่เพียงความสวยงามผิวเผิน———————“โจทย์ที่เราได้รับไม่มีอะไรซับซ้อนเลยครับ มีอยู่โจทย์เดียวคือทำยังไงให้สู้แบรนด์ร้านกาแฟต่างชาติได้ แค่นั้นเลย คือถ้าไม่สู้กับแบรนด์ระดับนี้เราก็ไม่รู้จะทำไปทำไม ทั้งในเรื่อง สเกลร้าน เรื่องการคั่ว การสร้างประสบการณ์ให้กับคนที่มาใช้บริการ ซึ่งนี่จุดเด่นของเขาคือการสร้างประสบการณ์ใหม่ แต่ Nana Coffee เป็นแบรนด์ไทย ที่ตั้งใจอยากไปสู้กับเขา แต่เขาจะรับสู้หรือเปล่าเราก็ไม่รู้นะ (หัวเราะ) เอาเป็นว่าเราคิดว่าก็ไม่ได้ด้อยกว่าเขา พี่กุ้งชาย (วรงค์ ชลานุชพงศ์) เจ้าของ Nana Coffee Roasters เขาก็อยากทำตรงนี้ ทีนี้พอโจทย์คือจะสู้กับเจ้าพ่อแห่งวงการกาแฟระดับโลก คอนเส็ปต์ในการออกแบบของผมก็เลยอยากจะลองพูดเรื่องโลกของกาแฟที่มีทั้งโลกเก่า โลกกลาง โลกใหม่ หรือที่พูดกันเรื่อง Third Wave หรือแม้แต่ Forth Wave ก็ตาม เราก็เลยออกแบบไอคอนของร้านให้เป็นโลกสามใบแขวนอยู่บนเพดานร้าน เป็นตัวแทนของโลกกาแฟทั้งสาม โลกเก่า โลกกลาง โลกใหม่ ซึ่งโลกกลางเป็นตัวแทนของปัจจุบันนี้แหละ เราเลยออกแบบให้โลกกลางนี้ใหญ่ที่สุดและกำลังหมุนอยู่ อันนี้เป็นกิมมิกที่เราต้องการสื่อออกไป——————————————————-——————————————“ทีนี้พอเราอยากนำเสนอว่าคนไทยไม่แพ้ใครในเรื่องกาแฟ ผมก็เลยคุยกับพี่กุ้งชายว่า งั้นเอาโรงคั่วมาไว้ในนี้เลยก็แล้วกัน คนที่มากินจะได้เห็นการคั่วกาแฟจริงๆ ไปเลย เพราะพี่กุ้งชายแกมาประจำที่นี่อยู่แล้ว การออกแบบพื้นที่นอกจากทำเคาน์เตอร์ชงกาแฟแล้วก็ยังมีพื้นที่ให้ Roasters ได้ทำงาน มีชั้นวางกระสอบเมล็ดกาแฟจริงๆ ที่เอาไว้คั่วตั้งอยู่ในร้าน ที่คนชอบไปถ่ายรูปกับกระสอบซ้อนๆ กันนั่นเมล็ดจริงๆ นะครับ เราออกแบบไว้ใช้งานจริงเลย ไม่ได้ทำไว้เพื่อถ่ายรูปสวยอย่างเดียว——————————————————-——————————————————-—————————————————“ธีมในการออกแบบภาพรวมในร้านนั้นเราเน้นการ “Aging” หรือการทำให้ภาพโดยรวมทุกอย่างดูเก่า ผ่านกาลเวลาเป็นหลัก ทั้งที่พื้นที่จริงๆ มันไม่ได้เก่าขนาดนั้น พื้นที่ตรงนี้เดิมทีเป็นโรงงานขนมปังที่เพิ่งสร้างเสร็จแล้วเขาปล่อยร้าง มันก็ยังไม่ได้เก่ามากมายอะไร เราก็ต้องมาทำทุกอย่างให้มันดูเก่า สนิมที่คุณเห็นในเหล็กพวกนี้นี่เราทำเอง เอามาผ่านกระบวนการทำให้มันเป็นสนิม กัดกรดจนเป็นสนิมทั้งหลังแล้วกดหยุด ไม่ทุกแผ่นที่เห็นว่ามันเก่า จริงๆ มันไม่ได้เก่าเราเอามาเผาให้ดูเหมือนไม้เก่า แม้แต่ตัวหนังสือที่อยู่บนแผ่นไม้เราก็พ่นเสร็จแล้วก็ขูดออก ทำให้มันดูเหมือนว่าผ่านเวลามา ให้รู้สึกเหมือนว่านี่คือผนังเก่า เราอยากให้คนที่เดินเข้ามาแล้วถามว่าร้านนี่เปิดมานานหรือยัง——————————————————-——————————————————-——————————————————-———————“การออกแบบ seating และบาร์ ก็เป็นสิ่งที่ผมได้ทดลองอะไรใหม่ๆ เพราะอย่าลืมว่าเสน่ห์ของร้านกาแฟคือบาร์ เวลาออกแบบร้านกาแฟ ผมจะมีคำถาม 2-3 ข้อ คือบาร์มันควรจะมีขนาดสักเท่าไหร่ และถ้าทำให้มันใหญ่ที่สุดเนี่ยใหญ่ได้แค่ไหน หรือมุมไหนที่เห็นบาร์ได้สวยที่สุด คำถามทั้งหมดนี้ผมทดลองเอามาใช้กับที่นี่หมดเลย ผมก็เลยสร้างชั้นสองขึ้นมาเพื่อให้คนได้เดินขึ้นมาข้างบนและก้มมองลงไปเห็นภาพรวม”
ตัวอาคารถูกออกแบบมาให้มีชั้นลอยขนาดใหญ่ที่สามารถเดินขึ้นทางด้านหลังเพื่อไปดูบาร์จากมุมบนได้
ทางเดินขึ้นไปชั้นลอยที่ถูกออกแบบมาให้เดินผ่านส่วนที่เป็นที่เก็บสารกาแฟ “FLAVOR COLLECTIVE”