CUPPA COFFEE

Suratthani

Type

Coffee & Bakery

Date of Completion

2023-05-01

Area

150 SQ.M.

Address

Wiang Sa, Suratthani

Contractor

BY OWNER

Photographer

JINNAWAT BORIHANKIJANAN

CUPPA COFFEE ถือเป็น Flagship Store และแบรนด์ลูกแบรนด์หนึ่งในเครือ Cuppa Cottage Cafe'&Bistro ที่ส่วนใหญ่มีสาขาเปิดบริการอยู่ภายในปั๊มน้ำมัน โดยเปิดมาแล้ว 4 สาขาในท้องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช สำหรับครั้งนี้ CUPPA COFFEE ขอแยกตัวมาเปิดนอกปั๊มดูบ้าง ซึ่งเป็นความตั้งใจของคุณชลิศร ภูมิประสิทธิ์ เจ้าของ ที่อยากรีแบรนด์ดิ้งธุรกิจของตนเอง กับการมองหาทำเลใหม่ จนได้พื้นที่ใกล้บ้านพัก และอยู่กับติดถนนสายเอเชีย ในเขตพื้นที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อนมอบหมายให้ดีไซเนอร์จาก party / space / design ช่วยออกแบบความพิเศษครั้งนี้ให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างภาพจำใหม่และการได้รับการกล่าวถึงให้แก่แบรนด์
.
อาคารที่ตั้งของคาเฟ่ แต่ก่อนเคยเป็นอาคารเก่าที่ได้รับการรีโนเวตใหม่ให้กลายเป็นกล่องอาคารสีขาว แต่ไม่เรียบนิ่งจนเกินไป ด้วยการออกแบบฟาซาดที่ใช้เทคนิคพิเศษ โดยนำอิฐทนไฟมากรุรอบตึกหนาถึง 3 ชั้น หรือหนาราว 40 เซนติเมตร นอกจากเป็นฉนวนกันความร้อนแล้ว ยังเป็นวิธีการเพื่อหลบเสาเอ็นด้วยกับดับเบิ้ลผนังให้หนาขึ้น ขณะที่ผนังภายนอกมีแพตเทิร์นอิฐคล้ายกับอาคารเก่า ทำให้เกิดความเฮอริเทจ ร่วมสมัย และหากสังเกตดี ๆ จะปรากฏแนวอิฐเป็นรูปตัวซี (C) จาง ๆ บริเวณด้านหน้าด้วยเพื่อบอกอักษรย่อของชื่อแบรนด์ ด้านข้างมีช่องแสงกระจกขนาดใหญ่ออกแบบให้ลักษณะปาดเฉียงขนาดใหญ่ เวลาที่ลูกค้าเข้ามาจอดรถจะเห็นช่องเปิดนี้ จึงออกแบบให้ล้อกับบันไดเป็นเส้นเฉียงสีแดงพาดอยู่ด้านใน ทำให้ลูกค้าสงสัยว่า มันคืออะไร เพราะหากไม่เคยมาจะไม่ทราบว่านี่คือบันได หรืออาจจะช่วยให้เดาได้ว่า ที่นี่มีพื้นที่ชั้น 2 ด้วย เส้นตัดเฉียงที่ว่านี้ จึงเป็นภาษาสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อให้รู้สึกตื่นตัว หรือที่เรียกว่าการ “สร้างซีน” ให้กับงานออกแบบ
.
ขณะที่ด้านนอกอาคารเป็นสีขาว แต่เมื่อเข้ามาด้านในกลับปะทะสายตาด้วยสีแดง อันเกิดจากความตั้งใจของคุณโต-ศุภรัตน์ ชินะถาวร ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบร้าน ในการใช้สีขาวสลับกับสีแดง หรือที่เรียกว่า Cutting Red โดยกำหนดใช้สีขาว 70 เปอร์เซ็นต์ สีแดง 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่กำลังน่าสนใจ โดยสีแดงสดนั้นดีไซเนอร์เล่าว่า มีไอเดียมาจากสีของเมล็ดกาแฟช่วงสุกเต็มที่ หรือที่เรียกว่าลูกเชอร์รี่ อันเป็นสีเอกลักษณ์ของแบรนด์ Cuppa Cottage Cafe'&Bistro ที่ทุกสาขาใช้ ดีไซเนอร์จึงหยิบมาใช้กับสาขานี้ด้วยเพื่อให้ลิงก์กัน
“ตึกนี้คนจะรู้สึกเข้าไปข้างในต้องขาวแน่ ๆ แต่พอเปิดเข้าไปปุ๊บเจอผนังสีแดง จึงอาจพูดยากว่าตึกนี้แท้จริงเป็นสีอะไร สีแดงก็พูดว่าแดงไม่ได้เพราะไม่ได้แดงทั้งหมด ขาวก็พูดเต็มปากไม่ได้ เปอร์เซ็นต์ของสีแบบนี้ผมว่ามันกำลังสนุก” คุณโตเล่าถึงแง่มุมการออกแบบครั้งนี้
.
พื้นที่ชั้น 1 ได้รับการออกแบบตกแต่งให้ดูคล้ายโรงภาพยนตร์ยุคเก่าแบบอเมริกันวินเทจ เห็นได้จากป้ายบอกชื่อเมนูกาแฟที่คล้ายตารางฉายภาพยนตร์ ส่วนเคาน์เตอร์บาร์กรุหินอ่อนมีไอเดียคล้ายไอส์แลนด์ในครัวตามอย่างหนังอเมริกัน วางเครื่องชงกาแฟ หรือ Modbar 3 หัว ด้านหน้ามีที่นั่งกลมล้อมเสากลางขนาดใหญ่ สร้างความรู้สึกสนุก สบาย ๆ ไม่รู้สึกเกร็งจนเกินไป เหมือนชวนคนไปดูหนัง มีบันไดสีแดงขนาดใหญ่ทำหน้าที่เสิร์ฟคนขึ้นไปสู่ชั้น 2 โดยบันไดขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางร้านนี้ คุณโตเล่าว่า เหตุผลของการออกแบบส่วนหนึ่งมาจากการแก้ปัญหาด้านเสาโครงสร้างกลางร้าน
.
ชั้น 2 เป็นที่ตั้งของโรงคั่วชื่อ CAPITAL C ที่คั่วเมล็ดกาแฟส่งไปยังสาขาต่าง ๆ ในเครือ Cuppa Cottage Cafe'&Bistro พื้นที่ด้านหน้าเป็นพื้นที่โล่งสำหรับจัดกิจกรรมเวิร์กชอปได้ โต๊ะนั่งทำงานแบบโคเวิร์กกิ้งสเปซที่มีความเป็นส่วนตัว ช่องแสงติดกราฟิกชื่อร้านเพื่อใช้แทนม่าน เวลามีแดดส่องเข้ามาจะช่วยกรองแสงลดความร้อน ทั้งยังเกิดเป็นลวดลายกราฟิกตกกระทบลงบนโต๊ะ และที่นั่ง แสงเงาบางส่วนยังพาดไปถึงชั้นล่าง เป็นอีกลูกเล่นหนึ่งที่ดูสนุดขึ้น ส่วนเฟอร์นิเจอร์เน้นคุมโทนเป็นโทนสีน้ำตาล สีขาว และท็อปโต๊ะเป็นหินเรียบง่าย ประดับด้วยโคมไฟสีทองแทนภาพกลุ่มผลเชอร์รี่ หรือเมล็ดกาแฟสุกที่ห้อยระย้าพร้อมกันเป็นพวงมากถึง 99 ดวง
.
แม้ตัวอาคารจะค่อนข้างมีความโมเดิร์น แต่เพื่อบอกถึงความเป็นงานคราฟต์ อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์อย่างการทำเบเกอรี่สูตรโฮมเมดที่อบสดใหม่ทุกวัน ภาษาที่สื่อถึงความเป็นงานคราฟต์จึงปรากฏผ่านงานเพ้นต์ลายผลเชอร์รี่ หรือลูกกาแฟ หรือแม้แต่ลายนิ้วมือเหมือนลายมือขณะนวดแป้งที่โซนเบเกอรี่เป็นดีเทลเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่มีเอกลักษณ์และสื่อสารได้อย่างตรงไปตรงมา ใครเป็นคอกาแฟในพื้นที่ หรือมีโอกาสได้แวะเวียนไปเที่ยวภาคใต้ สามารถลองไปเที่ยวดื่มด่ำกับงานดีไซน์ กาแฟ และเบเกอรี่รสชาติอร่อย ซึ่งถือเป็นอีกแบรนด์กาแฟที่กำลังเป็นอีกหนึ่งตัวตึงของภาคใต้ ขยับจากคาเฟ่และร้านอาหารสำหรับคนผ่านทางในปั๊มน้ำมัน สู่คาเฟ่ที่มีความพรีเมียมมากขึ้น
.
ที่ตั้ง
อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฏร์ธานี (ใกล้ตลาดเวียงสระ ติดกับบ้านส้องมินิมาร์ท)